พรบ.รถยนต์

พรบ.รถยนต์คืออะไร และแตกต่างจากประกันภัยทั่วไปอย่างไร?
พรบ.รถยนต์คือประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ ซึ่งเป็นประกันภัยรถยนต์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2536 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2540 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2550 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2551 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2536 เพื่อการประกาศใช้กฎหมายให้รถยนต์ทุกคันต้องมีประกันภัยพรบ.รถยนต์เป็นอย่างน้อยที่สุด

จุดประสงค์ของประกันภัยพรบ.รถยนต์ภาคบังคับ
คุ้มครองและให้ความช่วยเหลือผู้ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากรถยนต์ ให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที รวมทั้งได้ค่าปลงศพกรณีที่เสียชีวิต
รับประกันโรงพยาบาลว่าจะได้รับค่ารักษาพยาบาล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัยและครอบครัว
ประเภทของรถยนต์ที่ต้องทำประกันภัยพรบ.รถยนต์
ประเภทของรถยนต์ที่ต้องทำประกันภัยพรบ.รถยนต์คือรถทุกประเภทตามกฎหมายเช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถยนต์โดยสาร และรถบรรทุก เป็นต้น โดยผู้ที่มีหน้าที่ต้องทำประกันภัยพรบ.รถยนต์คือผู้ครอบครองรถหรือผู้เช่าซื้อรถ ซึ่งหากฝ่าฝืนไม่มีประกันภัย มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

ส่วนผู้ที่จะได้รับการคุ้มครองคือทุกคนที่ได้รับการประสบภัยจากรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ขับขี่ คนเดินเท้า และผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ ประกันภัยพรบ.รถยนต์สามารถทำได้กับบริษัทประกันที่รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันภัยรถ หากบริษัทประกันภัยใดฝ่าฝืนไม่รับประกันตาม พ.ร.บ. ต้องโทษปรับตั้งแต่ 50,000 – 250,000 บาท

อัตราเบี้ยประกันภัยพรบ.รถยนต์
อัตราเบี้ยประกันภัยถูกกำหนดให้เป็นอัตราคงที่อัตราเดียวสำหรับรถแต่ละประเภท และจุดประสงค์ในการใช้รถ โดยที่บริษัทประกันภัยไม่สามารถคิดต่างไปจากตามที่กำหนดไว้ได้ ตัวอย่างเบี้ยประกันภัยสำหรับรถประเภทต่าง ๆ ได้แก่

รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน: เบี้ยประกัน 1,900 บาทต่อปี
รถยนต์โดยสารเกิน 7 คน
ขนาดที่นั่งไม่เกิน 15 ที่นั่ง: เบี้ยประกัน 2,320 บาทต่อปี
ขนาดที่นั่ง 16-20 ที่นั่ง: เบี้ยประกัน 3,480 บาทต่อปี
ขนาดที่นั่ง 21-40 ที่นั่ง: เบี้ยประกัน 6,660 บาทต่อปี
ขนาดที่นั่งเกิน 40 ที่นั่ง: เบี้ยประกัน 7,520 บาทต่อปี
ประกันภัยพรบ.รถยนต์คุ้มครองอะไรบ้าง
ค่าเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยกรณีที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่บริษัทได้รับคำร้องค่าเสียหายดังกล่าว
ค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน
ค่าเสียหายหากผู้ประสบภัยทุพพลภาพ เช่น ตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ สูญเสียอวัยวะ เป็นต้น โดยจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 300,000 บาทต่อคน
หากผู้ประสบภัยเสียชีวิต จะได้รับค่าปลงศพจำนวน 300,000 บาทต่อคน

ตัวอย่างเช่น กรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ตั้งแต่ 2 คันขึ้นไปเกิดการเฉี่ยวชน และมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต บริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นตามที่ได้มีการรับประกันภัยไว้ ส่วนกรณีที่ผู้ประสบภัยไม่ได้อยู่ภายในรถ บริษัทของผู้ขับขี่จะต้องร่วมกันจ่ายโดยเฉลี่ย ซึ่งผู้ประสบภัยจะต้องทำการร้องขอค่าเสียหายกับบริษัทภายใน 180 วัน ตั้งแต่วันที่มีความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งหลักฐานที่ใช้ได้แก่

ใบเสร็จรับเงินจากโรงพยาบาล
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทาง
ใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่าเป็นผู้ประสบภัยซึ่งทุพพลภาพ
สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน
สำเนามรณบัตร
ความแตกต่างกันของประกันภัยพรบ.รถยนต์และประกันภัยทั่วไป
จะเห็นได้ว่าประกันภัยรถยนต์นั้นครอบคลุมในส่วนของค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียหายให้กับผู้ประสบภัยโดยตรง ในขณะที่ประกันภัยทั่วไปนั้นสามารถแบ่งออกเป็นชั้น 1,2+,2,3+,3 ตามการครอบคลุมที่ต่างกันออกไป ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียหายสำหรับรถยนต์กรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุ ทั้งที่มีคู่กรณีและไม่มีคู่กรณี รวมทั้งกรณีที่ไม่คาดคิดอื่น ๆ เช่น รถยนต์ได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ ถูกขโมย หรือน้ำท่วมเป็นต้น

ตอนนี้ผู้อ่านน่าจะเข้าใจเกี่ยวกับประกันภัยพรบ.รถยนต์มากขึ้นแล้วว่า ครอบคลุมอะไรบ้าง มีค่าเบี้ยเท่าไหร่ และหากไม่ทำตามอาจต้องโทษอย่างไร รวมทั้งรู้ถึงข้อแตกต่างของประกันภัยทั่วไปที่ครอบคลุมค่าเสียหายให้กับรถยนต์ของคุณด้วย ประกันทั้งสองประเภทต่างมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระหากเกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดกับทรัพย์สินและชีวิต โดยไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ แต่เป็นการแบ่งจ่ายในจำนวนที่ผู้ทำประกันสามารถเลือกจ่ายเองได้ตามความเหมาะสมและความต้องการของตัวเอง

error: Content is protected !!